วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ชุดประจำชาติอาเซียน

ประเทศไทย


         ประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเอกราชในยุคล่าอาณานิคม แต่อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้นได้นำเอาเสื้อแบบตะวันตกมาปรับใช้กับผ้าของตนแทนการแต่งกายแบบดั้งเดิม 
         จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนแบบเสื้อเรื่อยมาตามแฟชั่นตะวันตกจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่2ก็ไม่มีใครแต่งกายแบบดั้งเดิมอีก การแต่งกายแบบไทยแท้ๆเกือบจะหายไปแต่ด้วยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถให้รื้อฟื้นรูปแบบการแต่งกายดั้งเดิมผสานกับยุคสมัยใหม่ ออกมาเป็นชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ
          ในภาพเป็นชุดไทยศิวาลัยหนึ่งในชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ ชุดไทยศิวาลัยเป็นชุดไทยใส่เสื้อแขนยาวคาดเข็มขัดจะห่มสไบแบบไทยจักรีหรือห่มสะพักแบบไทยจักพรรดิก็ได้ แต่นิยมเป็นสไบปักมากกว่าสไบแถบเรียบๆ


ลาว


              การแต่งกายของลาวเป็นผ้าซิ่น ผ้าซิ่นนั้นอยู่คู่กับชาวลาวมาช้านาน ผู้หญิงลาวต้องฝึกหัดทอผ้าตั้งแต่เล็กๆ ผ้าซิ่นลาวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น พื้นซิ่น และตีนซิ่น ส่วนของพื้นซิ่นเป็นส่วนที่กว้างและมีลวดลายสวยงามที่สุด จะทอเป็นลายต่างๆในหลายเทคนิค ชุดลาวที่ใส่กันในปัจจุบันพัฒนามาจากแบบชุดของเจ้านายในหลวงพระบางซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ใช้ซิ่นไหมจีนปักลายดอก บางครั้งก็ทอลายยกดอกทั้งผืนซิ่นความยาวของซิ่นอยู่ที่ครึ่งน่อง ห่มสไบทับโดยให้ชายสไบด้านหน้ายาวลงมา

กัมพูชา


            ประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ การแต่งกายของกัมพูชานั้นได้มีการแลกเปลี่ยนกับประเทศไทยมานานมากโดยเฉพาะช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในภาพเป็นชุดประจำชาติกัมพูชาท่อบนเรียกSbai หรือสไบนั่นเองท่อนล่างคือ chang kben หรือโจงกระเบน ผ้าที่ใช้นุ่งเรียกว่า Sampot หนือผ้ายกแบบเขมร ผ้านุ่งโจงกระเบนนั้นสมัยโบราณใส่กันเฉพาะผู้ชายเท่านั้นต่อมาชาวเขมรเห็นสตรีไทยนุ่งจึงนุ่งตาม ในปัจจุบันใส่กันในงานเฉลิมฉลองหรืองานแต่งงาน
           ผ้านุ่งโจงกระเบนแบบเขมรนั้นถึงจะมีวิธีการนุ่งเหมือนของไทยแต่ก็แตกต่าง ชาวเขมรจะนุ่งห่มให้รัดรูปเสมอ โจงกระเบนก็เช่นกันจะรัดรูปที่เอวแต่ช่วงน่องจะโป่งออกมาก ตัวเสื้อก็จะตัดให้พอดีถึงแน่นเข้าไว้ ของไทยจะหลวมกว่า


ซ้าย : ชุดแบบต่างๆ
กลาง : สไบปักแบบเขมร
ขวา : เอกลักษณ์ของการแต่งกายแบบเขมรคือลูกไม้ปลายมือ ปะวะหล่ำ และกำไลมือ
ซึ่งไทยเคยใช้สมัยต้นกรุงเทพฯแต่ปัจจุบันไทยไม่นิยมแล้ว

พม่า


            พม่านั้นประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ ชุดที่เป็นชุดประจำชาตินั้นคือ longyi หรือสโหร่ง eingyi หรือเสื้อกับผ้านุ่ง แต่เป็นชุดที่ใส่กันเป็นปกติ
            ในภาพเป็นชุดที่ทำให้เป็นสมัยใหม่จากชุดราชสำนักมัณฑเลย์ เป็นชุดที่ใช้ในพิธีแต่งงานหรืองานพิธีใหญ่ๆ
            เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของผ้าพม่าคือผ้านุ่งลายลุนตยาอชิก พม่าออกเสียงว่า โลนต๊ะหย่า แปลว่าร้อยกระสวย เพราะการทอผ้าลายคลื่นนี้ใช้กระสวยหลายสิบอันเลยทีเดียวและใช้เวลาในการทอนานมาก ซิ่นตัวนึงอาจจะใช้คนทอต่อครั้งมากกว่า 2 คนครับ ส่วน อชิค หรือ อะฉิก แปลว่าคลื่น นอกจากจะสื่อถึงท้องคลื่นแม่น้ำอิระวดีแล้วยังแสดงนัยทางพระพุทธศาสนาเรื่องจักรวาลอีกด้วย คลื่นและลวดลายหมายถึงทะเลสีทันดรและเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 รอบเขาพระสุเมรุ


ซ้าย : ผ้าลุนตยาอชิค
รูปที่ 2 : สตรีสมัยมัณฑเลย์
รูปขวา : ชุดพม่าแบบสมัยใหม่

เวียดนาม



            ในภาพเป็นชุด Áo dài   áo แปลว่าชิ้นของเครื่องแต่งกาย dài แปลว่ายาว ชุดนี้พัฒนามาจากชุดในสมัยราชวงศ์ Nguyen ในศตวรรษที่18 รูปทรงจะหลวมๆตัวยาวๆ จนเมื่อเมื่อ80ปีที่แล้ว  Nguyễn Cát Tường ร่วมกับศิลปินได้ออกแบบชุดนี้ใหม่ให้มีความเพรียวกระชับโดยได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่นฝรั่งเศสสมัยยุค 1930's และได้รับการขนานนามว่าเป็นชุดประตำชาติของเวียดนามสมัยใหม่ ในช่วงยุค1950's ดีไซน์เนอร์ชาวไซ่ง่อนได้ปรับแบบให้ฟิตขึ้นจนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน


ซ้าย : ชุดโบราณสมัยราชวงศ์ ทรงหลวม
รูปที่ 2 : ชุดพิธีการจะมีเสื้อคลุมอีกชั้น
รูปที่ 3 : ชุดแบบภาคเหนือ
ขวา : ชุดแบบภาคใต้ได้รับอิทธิพลของชุดแบบชาวจามคอจะคว้านลึก แต่ปัจจุบันก็ใส่สลับกันไปมา

ฟิลิปปินส์


            ฟิลิปปินส์นั้นไม่มีชุดประจำชาติที่เป็นทางการสำหรับฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายนั้นใช้เสื้อ barong tagalog เป็นเสื้อประจำชาติ 
            เนื่องจากเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติมาหลายร้อยปี ชุดของสตรีฟิลิปปินส์นั้นได้รับวัฒนธรรมจากสเปนอย่างเด่นชัด โดยใช้รูปแบบการตัดเย็บแบบสเปนแต่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นคือ ใยกล้วย ใยสัปปะรด 
และฝ้าย 
           ในภาพเป็นชุดที่คนสมัยใหม่เรียกว่า Maria Clara ตั้งตามชื่อตัวเอกในนิยายเรื่อง Noli Me Tangere ซึ่งแต่งโดยวีรบุรุษของชาติ José Rizal เป็นชุดที่ประกอบด้วย เสื้อสั้นแขนทรงระฆังหรือเรียกกันว่าแขนนางฟ้า ผ้าคลุมไหล่ กระโปรงยาวลากพื้น และผ้าคาดเอว ชุดนี้จะพ่ฒนาต่อไปเป็นชุด Terńo ซึ่งเป็นชุดที่เสื้อกับกระโปรงติดกันและมีแขนตั้งเรียกว่าแขนปีกผีเสื้อ


ซ้าย : ชุด Baro't saya แปลว่าเสื้อกับกระโปรง
รูปที่ 2 : ชุด Maria Clara
ขวา 2 รูป : ชุด Terńo 

มาเลเซีย


            เครื่องแต่งกายนั้นแต่ละรัฐจะแต่งกายไม่เหมือนกัน ในภาพเป็นการแต่งกายของเมืองหลวงกัลลาลัมเปอร์ ชาวมาเลย์นิยมใช้ผ้า songket หรือผ้ายกดอกตัดเป็นชุดในงานสำคัญๆ แบบเสื้อที่เห็นเรียกว่าเสื้อ baju kebaya เป็นเสื้อตัวยาวปิดสะโพกและก้น ผ่าหน้าไม่มีกระดุมแต่จะใช้เข็มกลัด3อันกลัดแทนกระดุม และนิยมเสื้อกับกระโปรงเป็นผ้าชนิดเดียวกันสีเดียวกัน


ซ้าย : การแต่งกายรัฐยะโฮร์
รูปที่ 2 : การแต่งกายรัฐเปรัก
รูปที่ 3 : การแต่งกายรัฐปะหัง
ขวา : การแต่งกายรัฐกลันตัน

สิงคโปร์



            ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้กำหนดชุดประจำชาติ แต่ถ้าให้เลือกนอกจากชุดจีนกี่เพ้าแล้วก็น่าจะเป็นชุดนี้ Sarong Kebaya 
           ชุดโสร่งเคอบายานั้นเป็นการแต่งกายของชาวเปอรานากันหรือที่คนไทยเรียกย่าหย๋า เปอรานากันแปลว่าเกิดที่นี่ซึ่งย้อนหลังไป400กว่าปีชาวจีนเข้ามาทำการค้าขายและแต่งงานกับหญิงพื้นเมืองจึงก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา ย่าหย๋านั้นใช้เรียกผู้หญิงส่วนบาบ๋าใช้เรียกผู้ชาย ชาวเปอรานากันนั้นกระจุกตัวในเมืองท่าได้แก่ มะละกา ปีนัง ภูเก็ต และสิงคโปร์
          การแต่งกายนั้นสตรีนำแบบเสื้อจีนยาวสมัยราชวงศ์หมิงมาดัดแปลงโดยใช้วัสดุที่บางเบามาตัดเย็บต่อมาจึงมีการเข้ารูป เสื้อเคอบายาแบบย่าหย๋านั้นตัวจะสั้นและบางกว่าแบบมาเลย์ เน้นทรวดทรง และปักเสื้อด้วยลายดอกไม้ต่างๆ นิยมสีสันสดใสและใส่กับผ้านุ่งโสร่งปาเต๊ะสีสดตัดกัน และสวมรองเท้าปักลูกปัด
         สังเกตว่าผ้านุ่งแบบย่าหย๋าตะใช้สีสดเท่านั้นส่วนชาวมาเลย์และอินโดนีเซียจะใช้โทนสีน้ำตาลเป็นหลัก



ซ้าย : ชุดแบบดั้งเดมเรียก Baju Panjang แปลว่าชุดยาว สมัยนี้ไม่มีใครใส่กันจริงจัง
ยกเว้นเป็นชุดออกงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
รูปที่ 2 : ชุดแต่งงาน จะยืมเอาชุดแบบจีนใต้มาใช้แต่มงกุฏยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมของ
สมัยราชวงศ์หมิง
รูปที่ 3 : ชุดเคอบายา
ขวา : เคอบายาได้รับการออกแบบใหม่โดยปิแอร์ บัลแมง ในชุดยูนิฟอร์มของสิงคโปร์แอร์ไลน์
 จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสิงคโปร์

อินโดนีเซีย



            อินโดนีเซียนั้นมีหลากหลายชนเผ่าแต่ละเผ่าก็จะมีชุดประจำเผ่าของตนเองแต่ชุดประจำชาตินั้นยึดเอาแบบราชสำนักชวาโดยใช้เสื้อเคอบายาและผ้าบาติกเป็นชุดประจำชาติ ส่วนผ้าบาติกนั่นเน้นโทนสีน้ำตาล เวลานุ่งจะจีบจีบด้านหน้าเหมือนหน้านางของไทยแต่จีบเล็กกว่าการแต่งกายแบบนี้ใช้ในโอกาสทั่วไปครับ
           การแต่งกายแบบที่กล่าวนั้นเอาแบบอย่างมาจากราชสำนักยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตาในชวากลาง ในภาพเป็นชุดที่ใช้กันในพิธีแต่งงานและราชพิธีของราชสำนักชวากลาง ตัวเสื้อสีดำหรือเขียวเข้มอันเป็นสีของศาสนาอิสลามทำจากกำมะหยี่ ปักลายทอง นุ่งกับผ้าบาติกจับจีบ



ซ้าย : ชวากลาง
รูปที่ 2 : สุมาตราเหนือ
รูปที่ 3 : บาหลีเหนือ
รูปที่ 4 : บาหลีใต้

            เกร็ดความรู้: Kebaya เคอบายา (สามจังหวัดภาคใต้จะเรียกว่าเสื้อ บานง)เป็นชื่อเรียกของเสื้อสตรีที่ผ่าหน้าไม่มีกระดุม มีต้นกำเนิดที่ชวา อินโดนีเซียในสมัยอาณาจักรมัชฌปาหิตราวๆศตวรรษที่15 และแพร่หลายจากชวาไปยังดินแดนต่างๆเช่น เกาะบาหลี สุมาตรา มาเลเซีย สิงคโปร์ ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และไทย เวลาสวมใส่จะใช้เข็มกลัดกลัดแทน
เคอบายามีความหลากหลายมากเช่น
       อินโดนีเซีย - เคอบายาของชวาจะฟิตรัดรูปมากราวคอจะเป็นสี่เหลี่ยม ชายเคอบายาจะตกที่ราวสะโพก ทำจากผ้าที่ทึบ ส่วนของบาหลีลักษณะเหมือนของชวาแต่ทำจากผ้าโปร่ง ส่วนของชาวยูเรเซียนเคอบายาจะเป็นสีขาว ของราชสำนักจะเป็นเหมือนในภาพที่ผมวาด
       มาเลเซียและสุมาตรา - เคอบายาจะหลวมแต่เข้ารูปเล็กน้อยมักทำจากผ้าเนื้อหนา ยาวปิดสะโพก ตามหลักศาสนาอิสลามที่จะไม่เน้นสัดส่วน
      ชาวเปอรานากัน (มะละกา สิงคโปร์ ปีนัง ภูเก็ต) - เนื่องจากมีเชื้อสายจีน เคอบายาจะสั้นและบางแนบเนื้อโชว์สัดส่วนที่สวยงามของสตรี เวลาใส่บนตัวจะเห็นเสื้อในอย่างชัดเจน ชายเคอบายาจะตัดเป็นเหลี่ยม มีสีสันสดใสและปักเป็นลวดลายต่างๆ

บรูไน



           ประเทศบรูไนนั้นใช้ชุด Baju Kurung (สามจังหวัดภาคใต้เรียกว่าเสื้อ กูรง)เป็นชุดประจำชาติ ชุดนี้ใช้กันทั่วไปในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยมุสลิม เป็นเสื้อแขนยาวทรงหลวมๆคลุมไปจนถึงหัวเข่า ชาวบรูไนชอบใช้สีสันสดใสแต่ไม่ใช้สีเหลืองเพราะเป็นสีของสุลต่าน โพกผ้าฮิญาบตามหลักศาสนาอิสลาม
          ในภาพนั้นเป็นการแต่งกายของสตรีบรูไนในพิธี Berbedak เป็นพิธีให้พรของญาติๆเจ้าสาวโดยจากมีการลงแป้งและขัดถูทั่วร่างกาย การแต่งกายนั้นแต่งตามแบบโบราณ ชุดที่ใส่ก็คือ Baju Kurung นั่นแหละแต่มีการประดับประดามากขึ้นเท่านั้น


ซ้าย : ผ้า Songket
ขวา : ชุดในพิธี Berbedak

ติมอร์เลสเต (ว่าที่อาเซียน)


            การแต่งกายและลวดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะติมอร์เป็นแหล่งทอผ้าที่มีลวดลายและสีสันที่สวยแห่งหนึ่งของโลก
           ผ้าทอของชาวติมอร์ตะวันออกเรียกว่า tais ของผู้ชายจะผืนเล็กกว่าเรียก tais mane ส่วนของผู้หญิงผืนใหญ่กว่าเรียก tais feto การทอผ้าถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียการทอผ้าพื้นเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็เป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง ผ้าทอของชาวติมอร์ใช้ฝ้ายอันเป็นมรดกที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และใช้สีธรรมชาติในการย้อมสี เช่น ขมิ้น มะม่วง ใบมันสำปะหลัง เป็นต้น ผ้าทอของชาวติมอร์ใช้เทคนิคที่หลากหลายจึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมผ้าทั่วโลก การนุ่งห่มนั้นจะนุ่งเป็นกระโจมอกอาจจะมีผ้าคล้องคอซึ่งนิยมกันไม่กี่ปีมานี้ ใส่เครื่องประดับที่ทำจากปะการัง และเครื่องประดับต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น